วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

พม่า เมืองพุทธศาสนาที่ยังมีชีวิต

     พม่าประเทศที่เราต่างคิดว่าล้าหลัง ตามหลังประเทศไทยเราอยู่หลาย 10 ปี แต่ในความล้าหลังนั้น ก็ทำให้เราได้เห็น ผู้คนในพม่าเกือบทุกคนเคารพ และนับถือศาสนาพุทธ อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น เด็กเล็ก วัยรุ่น เด็กแว้น คนวัยทำงาน รวมถึงคนสูงอายุ ทุกคนจะเข้าวัดทุกวันพระ การจะเข้าวัดทุกคนจะถอดร้องเท้า เพราะถือว่า วัดเป็นสถานที่ ที่มีความสำคัญมากสำหรับพวกเขา ในอดีต ประเทศไทยเราก็เคยทำอย่างนั้น แต่ในปัจจุปันนี้แทบจะไม่หลงเหลือให้เห็นแล้ว วันนี้พวกเราทีมงาน บ้านมัคคุเทศก์ ทัวร์ จะนำท่านไปรู้จักกับ 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญสูงสุด ในพระเทศพม่า หรือ “เบญจมหาบูชาสถาน” ซึ่งมีดังนี้
        1. เจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง 
        2. พระธาตุอินทร์แขวน เมืองไจก์โถ่ 
        3. เจดีย์ชเวมอดอร์ (เจดีย์มุเตา) เมืองหงสาวดี 
        4. เจดีย์ชเวซิกอง เมืองพุกาม 
        5. พระมหามัยมุนี เมืองมัณฑะเลย


“พระมหามัยมุนี” พระพุทธรูปมีชีวิต มหาศรัทธาแห่งพม่า/ปิ่น บุตรี
พระมหามัยมุนี 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของพม่า
        วันนี้เราจะนำท่าไปรู้จักกับ พระมหามัยมุนี เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าใน 5 สิ่ง มีเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นพระพุทธรูปคือ “พระมหามัยมุนี” ที่หากใครไปมัณฑะเลย์แล้วไม่ได้ไปสักการบูชาท่าน ก็เหมือนว่ายังไปไม่ถึงมัณฑะเลย์
“พระมหามัยมุนี” พระพุทธรูปมีชีวิต มหาศรัทธาแห่งพม่า/ปิ่น บุตรี
ทุกๆวันจะมีชาวพม่าเดินทางมากราบไหว้ปิดทองพระมหามัยมุนีเป็นจำนวนมาก
        “ พระมหามัยมุนี” พระพุทธรูปมีชีวิต "

        แม้ชาวพม่าส่วนใหญ่จะเชื่อว่า พระมหามัยมุนีสร้างมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่ตามประวัติและตำนานส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่า พระมหามัยมุนีสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 688 โดยพระเจ้าจันทสุริยะ กษัตริย์ชาวยะไข่แห่งเมืองธรรมวดี แคว้นยะไข่

        พระเจ้าจันทสุริยะมีความศรัทธาในพระพุทธเจ้าอย่างมาก ใฝ่ฝันว่าอยากกราบไหว้พระพุทธองค์ จึงทำการสร้างพระพุทธรูปเพื่อตัวแทนของพระองค์ขึ้น ซึ่งในการสร้างมีตำนานปลีกย่อยกว่าการสร้างพระพุทธรูปของบ้านเรา คือ เมื่อเททองหล่อไป 2 ครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งในครั้งที่ 3 จู่ๆ ก็มีบุคคลลึกลับที่เชื่อกันว่าเป็นเทวดาจำแลงมาเททองให้จนประสบความสำเร็จ เป็นพระพุทธรูปอันงดงามจนถึงปัจจุบัน
“พระมหามัยมุนี” พระพุทธรูปมีชีวิต มหาศรัทธาแห่งพม่า/ปิ่น บุตรี
พระมหามัยมุนีปิดทองได้ทั่วองค์ ยกเว้นพระพักตร์
        พระมหามัยมุนีได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปมีชีวิต เพราะชาวพม่าเชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้มาประทานลมหายใจอันศักดิ์สิทธิ์เข้าไปใน พระวรกายของพระพุทธรูปองค์นี้

        พระมหามัยมุนีจึงเป็นดังตัวแทนของพระพุทธองค์ที่มีชีวิตจิตใจ ใครที่มากราบไหว้บูชาจะได้รับศรัทธาอันสูงล้ำ

        พระมหามัยมุนี เป็นพระพุทธรูปหล่อทองสำริด ปางมารวิชัยทรงเครื่อง หน้าตักกว้าง 9 ฟุต สูง 12 ฟุต ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ “วัดมหามัยมุนี” หรือชื่อแท้ดั้งเดิมคือ วัดปยกยี (Payagyi) ที่หมายถึงวัดยะไข่ เพราะเดิมพระมหามัยมุนีประดิษฐานอยู่ที่เมืองยะไข่
“พระมหามัยมุนี” พระพุทธรูปมีชีวิต มหาศรัทธาแห่งพม่า/ปิ่น บุตรี
ทองคำเปลวที่ถูกปิดมากมายจนได้ชื่อว่าพระเจ้าเนื้อนิ่ม
        ด้วยความศักดิ์สิทธิ์และความวิจิตรงดงามของท่าน ทำให้เป็นที่หมายปองของกษัตริย์พม่ามาหลายยุคหลายสมัย มีความพยายามที่จะย้ายท่านจากเมืองยะไข่มาสู่เมืองหลวงของตน แต่ไม่มีผู้ใดสามารถอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ออกมาจากเมืองยะไข่ได้ จนกระทั่งในสมัย “พระเจ้าปดุง” ถึงสามารถอัญเชิญพระมหามัยมุนีข้ามแม่น้ำอิรวดีมาประทับที่มัณฑะเลย์ได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2327

        ในเรื่องนี้ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์พม่า วิเคาระห์ตั้งข้อสังเกตไว้ในหนังสือ “สู่ลุ่มอิรวดี” ว่า ผลจากความสำเร็จในการอัญเชิญพระมหามัยมุนี ทำให้พระเจ้าปดุงมีความฮึกเหิมเชื่อมั่นว่าพระองค์มีพลานุภาพเหนือกว่า มหาราชองค์อื่นๆ ในอดีต (ของพม่า) ไม่ว่าจะเป็น บุเรงนองมหาราช อโนรธามหาราช หรืออลองพญามาหราช พระเจ้าปดุงจึงยกพลกรีธาทัพยกมาตีกรุงรัตนโกสินทร์ถึง 2 ครั้ง ในศึกเก้าทัพ และศึกรบพม่าที่ท่าดินแดง แต่ต้องแพ้พ่ายกลับไปทั้ง 2 ครั้ง
“พระมหามัยมุนี” พระพุทธรูปมีชีวิต มหาศรัทธาแห่งพม่า/ปิ่น บุตรี
แม้จะปิดทองไม่ได้ เข้าใกล้ได้เพียงในขอบเขตที่กำหนด แต่ทุกๆวันจะมีผู้หญิงชาวพม่ามากราบไหว้สักการะกันเป็นจำนวนมาก
        กลับมาที่เรื่องของพระมหามัยมุนีกันต่อ ด้วยความศักดิ์สิทธิ์อันเลื่องลือระบือไกล ทำให้แต่ละวันมีชาวพม่า ชาวพุทธชาติอื่นๆ และรวมถึงพุทธศาสนิกชนชาวไทย หลั่งไหลมาสักการบูชาท่านเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เช้ายันเย็น มีเหล่าบุรุษมาเข้าคิวต่อแถวขึ้นไปปิดทององค์พระกันอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ชายสามารถขึ้นไปปิดทององค์พระแบบถึงตัวใกล้ชิดได้ แต่ห้ามปิดทองบริเวณพระพักตร์หรือหน้า ส่วนผู้หญิงนั้นห้าม ให้กราบไหว้บูชาที่ด้านล่าง โดยมีเขตห้ามผู้หญิงล้ำเข้าไป ส่วนใครอยากจะปิดทองก็ให้ฝากผู้ชายขึ้นไปปิดแทน เพราะศรัทธานั้นอยู่ที่ใจ
“พระมหามัยมุนี” พระพุทธรูปมีชีวิต มหาศรัทธาแห่งพม่า/ปิ่น บุตรี
รอยทองคำเปลวพอกพูนตะปุ่มตะป่ำอันเกิดจากศรัทธาของชาวพุทธ
        ด้วยแรงศรัทธาจากมหาชนเดินทางมาปิดทองกันเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน มีการปิดทับซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ทองคำเปลวที่องค์พระพอกพูนมหาศาลจนพระวรกายอวบอ้วนมีตะปุ่มตะป่ำทั่วไป หมดทั้งด้านหน้าด้านหลัง จนใครหลายๆ คนเรียกขานท่านว่า “พระพุทธรูปทองคำเนื้อนิ่ม” หรือ “พระเจ้าเนื้อนิ่ม” ซึ่งผมได้ลองกดนิ้วลงไปในบางจุด ปรากฏว่านุ่มมือสมชื่อ
“พระมหามัยมุนี” พระพุทธรูปมีชีวิต มหาศรัทธาแห่งพม่า/ปิ่น บุตรี
พระพักตร์พระมหามัยมุนีเปรียบเทียบยุคต่างๆ
        ส่วนพระพักตร์ที่ไม่ได้ปิดทองที่ดูเปล่งรัศมีอิ่มเอิบเปี่ยมพลังแห่งศรัทธา นั้น ไกด์ชาวพม่าที่นำเที่ยวมัณฑะเลย์บอกกับผมว่าพระพักตร์หรือใบหน้าของพระมหา มัยมุนีในแต่ละยุคสมัยจะดูเปลี่ยนไปตามรูปทรงของทองที่ปิดพระวรกาย โดยที่วัดมหามัยมุนีได้มีรูปภาพแสดงองค์พระมหามัยมุนีให้แต่ละยุคให้พิสูจน์ ซึ่งผมดูแล้วพบว่าพระพักตร์ของท่านใน 4 ยุคดูไม่เหมือนกันจริงๆ ด้วย

        นับเป็นความน่ามหัศจรรย์ที่หากมองในทางวิทยาศาสตร์ มุมมองของพระพักตร์ที่เปลี่ยนไปอาจเกิดจากการสะท้อนแสงเงา เกิดจากการประมวลภาพของสายตาตามพระวรกายที่เปลี่ยนไป แต่หากมองในทางศาสนาแล้ว นี่ล้วนเกิดจากมหาศรัทธาอันยิ่งใหญ่ที่ชาวพุทธมีต่อพระพุทธรูปองค์นี้
“พระมหามัยมุนี” พระพุทธรูปมีชีวิต มหาศรัทธาแห่งพม่า/ปิ่น บุตรี
พิธีการล้างพระพักตร์อันเปี่ยมไปด้วยศรัทธา
        รับขวัญวันใหม่กับ “พิธีล้างพระพักตร์” 

        ปกติเวลาผมอยู่กรุงเทพฯ จะเป็นคนตื่นสาย เพราะไม่ชอบมาผจญรถติดในยามเช้า แต่ในวันนี้ที่มัณฑะเลย์ แม้จะต้องตื่นแต่มืดแต่ดึกก่อนไก่โห่ตั้งแต่ตีสามกว่าๆ ผมก็เต็มใจยินดี เพื่อที่เราจะได้ไปทัน “พิธีล้างพระพักตร์” พระมหามัยมุนี พิธีแห่งความศรัทธาที่จัดสืบต่อกันมานับพันปี

        ไกด์ชาวพม่าบอกกับผมว่า พิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี ปฏิบัติต่อเนื่องกันมากว่าพันปีแล้ว พิธีนี้มาจากความเชื่อนับแต่โบราณกาลของชาวพม่าที่ว่า พระมหามัยมุนีนี้ได้รับประทานลมหายใจจากพระพุทธเจ้า (ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น) จึงเป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิตมีลมหายใจ ดังนั้นจึงต้องจัดพิธีล้างหน้า แปรงฟัน เหมือนกับคนเราให้ในทุกๆ เช้าของทุกวัน โดยไม่มีเว้นวันฝนตกหนักหรือวันหยุดพิเศษใดๆ
“พระมหามัยมุนี” พระพุทธรูปมีชีวิต มหาศรัทธาแห่งพม่า/ปิ่น บุตรี
เช็ดพระพักตร์
        พิธีล้างพระพักตร์จะเริ่มขึ้นเมื่อหลวงพ่อเจ้าอาวาสถือกุญแจมาไขในเวลา ประมาณตีสาม 45 นาที มีวงดนตรีมโหรีเล่นสดๆ ประโคมบอกให้รู้ จากนั้นเวลาประมาณตี 4 ขั้นตอนการล้างพระพักตร์จะเริ่มขึ้น มีการคลุมผ้าพระวรกายขององค์พระ ถวายอาหารผลไม้ เปลี่ยนดอกไม้เก่าออกไป นำดอกไม้ใหม่มาถวาย

        จากนั้นเป็นการล้างพระพักตร์ที่มีส่วนผสมของน้ำไม้จันทน์หอมและ “ทานาคา” สมุนไพรทำแป้งพม่าที่หลายคนคุ้นหูดี โดยขั้นตอนการล้างพระพักตร์จะล้างด้วยขันทอง 3 ครั้ง ขันเงิน 3 ครั้ง และขันธรรมดา 3 ครั้ง มีการแปรงพระโอษฐ์ (ริมฝีปาก) ที่เป็นดังการแปรงฟันให้ท่าน และมีการเช็ดหน้าที่มีคนนำผ้าเช็ดหน้ามาถวาย เช็ดวันหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 100 ผืน ซึ่งพิธีจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
“พระมหามัยมุนี” พระพุทธรูปมีชีวิต มหาศรัทธาแห่งพม่า/ปิ่น บุตรี
แปรงพระโอษฐ์
        หลังการล้างพระพักตร์เสร็จพระผู้นำการล้างพระพักตร์จะนำ “รัก” มาทาองค์พระ แล้วจึงนำปิดทอง ซึ่งช่วงนี้จะมีคนมารอต่อแถวเข้าคิวยาวทั้งชาวพม่าและนักท่องเที่ยว โดยชาวพม่าเชื่อว่าการได้ปิดทองพระมหามัยมุนีในยามเช้าเป็นการสร้างความ เชื่อมั่นให้กับการปฏิบัติภารกิจในวันนั้น ส่วนใครที่ได้ปิดทองเป็นคนแรกต่อจากพระผู้นำพิธี ผู้นั้นจะได้รับมงคลอย่างสูงล้ำ
“พระมหามัยมุนี” พระพุทธรูปมีชีวิต มหาศรัทธาแห่งพม่า/ปิ่น บุตรี
ทุกๆเช้าจะมีคนมาร่วมทำพิธีล้างพระพักตร์กันเป็นจำนวนมาก
        นอกจากจะมากราบไหว้ปิดทองแล้ว ผมยังเห็นหลายคนยังมานั่งสมาธิ สวดมนต์ นับประคำ ซึ่งถือเป็นเรื่องชินตาของที่นี่นับตั้งแต่เช้าไปจนค่ำมืด ส่วนผู้หญิงที่แม้จะขึ้นไปปิดทองไม่ได้ ทางวัดกันเขตไว้ ก็ดูจะไม่เป็นอุปสรรคต่อศรัทธา เพราะมีการเดินทางมากราบไหว้ นั่งสมาธิ สวดมนต์ ทำบุญ ทำทาน กันอยู่ทั่วไป
“พระมหามัยมุนี” พระพุทธรูปมีชีวิต มหาศรัทธาแห่งพม่า/ปิ่น บุตรี
เทวรูปขอมโบราณที่เชื่อว่าเจ็บป่วยตรงไหนให้ไปลูบตรงนั้นแล้วจะดีขึ้น

        นอกจากพระมหามัยมุนีแล้ว ที่วัดมหามัยมุนี ยังมีสิ่งน่าสนใจได้แก้อาคารสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์แบบพม่า รูปเคารพ ศิลปวัตถุต่างๆ โดยที่ด้านข้างวิหารพระมาหมัยมุนีมีศาลาเก็บเทวรูปหล่อสำริดศิลปะขอมสมัยพระ เจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นรูปทวารบาล สิงห์และช้างเอราวัณ ซึ่งชาวพม่าเชื่อว่าใครที่เจ็บปวดตรงส่วนไหนของร่างกาย ให้มาลูบคลำตรงส่วนนั้นของเทวรูปก็จะทำให้อาการดีขึ้นหรือช่วยรักษาอาการได้

        นอกจากนี้ที่วัดมหามัยมุนียังเป็น ตลาดขายของที่ระลึกที่สำคัญ มีสินค้าที่ระลึกมากมายให้เลือกซื้อส่วนใครที่ไปในตอนเช้าจะมีพระ-เณร มาบิณฑบาตเรี่ยรายบุญ มีอาหาร-ขนมพื้นบ้านมาขาย อีกทั้งยังจะได้พบกับภาพวิถีชีวิตอันน่าสนใจให้สัมผัสกัน

สนในโปรแกรม ติดต่อ บริษัท บ้านมัคคุเทศก์ ทัวร์
โทร 02-374-7222
เดินทางวันที่ 10-13 ธันวาคม 2558
รายละเอียดโปรแกรม

ติดตามพวกเราได้ที่ : บ้านมัคคุเทศก์ ทัวร์
Facebook BMT Channel :www.facebook.com/BaanMakkutedtour
Youtube BMT Channel :www.youtube.com/channel/UCvVUwcxfq76LT2ot6L9EqSQ
Website BMT Tour : www.bmttour.com/
แหล่งที่มา : http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000084916

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น